การเข้าร่วมพิธีเปิดงาน “โครงการพัฒนาอาชีพผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเครื่องสำอาง เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี ของบริษัท เจ.ที.ซิลค์ จำกัด”

2024/8/29
1
2
  เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายฮิกุจิ เคอิจิ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ได้ร่วมกล่าวในพิธีเปิดงาน “โครงการพัฒนาอาชีพผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเครื่องสำอาง เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี” ของบริษัท เจ.ที.ซิลค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากไหมที่เชียงใหม่ โดยพิธีในครั้งนี้เป็นการย้อนกลับไปดูเส้นทางของบริษัทตลอดระยะเวลา 21 ปีนับตั้งแต่แต่ก่อตั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นโครงการเพาะปลูกต้นหม่อนภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการหลวงและกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  หลังจากการกล่าวต้อนรับโดยนายฮิโรโตะ เอกามิ ประธานบริษัทฯ และการกล่าวแสดงความยินดีโดยพันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม มีกิจกรรมปลูกต้นหม่อนเพื่อเป็นที่ระลึกและเยี่ยมชมฟาร์มเพาะเลี้ยงไหม

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม : ความร่วมมือที่ไม่เป็นที่รู้จักระหว่างญี่ปุ่นและไทย

3
4
  ความร่วมมือด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระหว่างญี่ปุ่นและไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยเริ่มต้นเมื่อประมาณ 120 ปีก่อน ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ของญี่ปุ่น ได้มาปฏิบัติการที่สถาบันวิจัยหม่อนไหมสยามตั้งแต่ปี 1902 เป็นระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 1970 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหมจำนวน 6 คนมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงไหม การผลิตไข่ไหม รวมถึงการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมของไทยอย่างมาก
  การเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ขณะเดียวกันก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การแปรรูปไหมที่ไม่ใช่เพียงแค่การตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมได้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรต่อไป